ไร่ถั่วเหลือง คณิศร พืชผล

วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ที่มาข้อมูล

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก

            องค์การตลาดเผื่อการเกษตร , ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่, ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่,

                คุณกัลยา เนตรกัลยา เนตรกัลยามิตร อดีต ผอ. สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 2 จ.พิษณุโลก และอดีต ผอ.ศูนย์วิจัยพืชไร่พิษณุโลก
                 คุณบุหลัน   กาวิโร เจ้าหน้าที่นักวิชาการ ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่

วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การใช้ประโยชน์

ถั่วเหลืองสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนกล่าวคือ

1. ส่วนต่าง ๆ ของถั่วเหลือง คือ ใบ ลำต้น เปลือกเมื่อเก็บเกี่ยวและนวดเรียบร้อยแล้ว และไถกลบลงสู่ดินรวมทั้งปมที่ตกค้างในดินจะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ดีที่สุด ในส่วนของเปลือกถั่วเหลืองนำมากองรวมกันใช้เพาะเห็ดที่เรียกว่า " เห็ดถั่วเหลือง " นำมาทำอาหารรับประทานได้

2. เมล็ดของถั่วเหลืองนำมาใช้เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเมล็ด ถั่วเหลืองจะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาหารมนุษย์และสัตว์

การเก็บเกี่ยว

                การเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ควรมีการปฏิบัติที่ถูกต้องตั้งแต่การเก็บเกี่ยว ตาก ย้าย นวด ฯลฯ เพราะจะช่วยลดการสูญเสียเนื่องจากการปฏิบัติ วิธีการเก็บเกี่ยว อาจเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองตามอายุ และสังเกตสีของฝักโดยการตัดที่โคนต้น และนำมามัดรวมกันเป็นฟ่อน ตั้งเป็นกองทิ้งไว้โดยเอาโคนลงดิน จนกระทั่งใบร่วงประมาณ 5 - 7 วันก่อนนวด

การป้องกันกำจัดโรคพืช และ กำจัดวัชพืช

การป้องกันกำจัดโรคพืช
โรคถั่วเหลืองที่สำคัญ คือ โรคราสนิม โรคแอนแทรกโนส การป้องกันกำจัดโรค ถั่วเหลืองควรป้องกันโดย
1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ต้านทานโรค เช่น พันธุ์ สจ.5, สจ.4 เป็นต้น
2. ปลูกพืชหมุนเวียน
3. ถ้าระบาดรุนแรงควรใช้สารเคมี ไดเทนเอ็ม - 45 แมนเสทดี ฉีดพ่นประมาณ 3 ครั้ง โดยพ่น
ครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 40 วัน และพ่นอีก 1 - 2 ครั้ง ตามความจำเป็น

การป้องกันกำจัดวัชพืช
การป้องกันกำจัดวัชพืชสามารถกระทำได้ 2 วิธี คือ
1. วิธีกล โดยใช้แรงงานคน สัตว์ ทำการถากถางไถพรวนกำจัดวัชพืช 1 - 2 ครั้ง ในระยะที่ต้นถั่วเหลืองอายุไม่เกิน 30 วัน
2. ใช้สารเคมี โดยพ่นสารเคมีหลังปลูกทันทีหรือหลังปลูก 1 - 2 วัน ก่อนที่วัชพืชงอก สารเคมีที่ใช้ให้ผลดี ได้แก่ ดูอัลชนิดน้ำ 40 % แลสโซ่ชนิดน้ำ 43.7 %

กรรมวิธีการปลูก

การปลูก 
             ปลูกได้ทั้งในสภาพดินที่มีการไถพรวนและไม่ไถพรวน แต่ต้องมีการระบายน้ำได้ดี และให้น้ำสม่ำเสมอ สำหรับสภาพพื้นที่ที่ไม่ได้ไถพรวนส่วนใหญ่ จะปลูกในฤดูแล้งหลังนาปี

1. การเตรียมดินปลูก ควรปรับดินให้สม่ำเสมอ โดยไถดิน 2 ครั้ง ไถลึก 15 - 20 เซนติเมตร
ตากดินไว้ 1 - 2 สัปดาห์ แล้วไถพรวน 1 - 2 ครั้ง ( ขึ้นอยู่กับสภาพดิน ) ปรับระดับหน้าดินใหม่สม่ำเสมอไม่ให้มีน้ำขัง และมีการขุดร่องโดยรอบแปลงเพื่อระบายน้ำได้สะดวก

2. การเตรียมเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก โดยทำการทดสอบความงอกของเมล็ด และคลุกเชื้อไรโซเบียมก่อนปลูก โดยใช้อัตราเชื้อไรโซเบียม 200 กรัมต่อเมล็ดถั่วเหลือง 1 กิโลกรัม

3. วิธีการปลูก วิธีการปลูกนั้นอาจปลูกเป็นหลุม โดยมีระยะปลูกระหว่างแถว x ระหว่างหลุม เป็น 50 x 20 , 25 x 25 , 30 x 20 เซนติเมตร หลุมละ 4 ต้น หรือโรยเป็นแถว โดยมีระยะระหว่างแถว ประมาณ 25 - 50 เซนติเมตร ให้มีจำนวนต้นประมาณ 20 ต้น ต่อความยาวของแถวประมาณ 1 เมตร อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ 12 - 25 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปลูกโดยวิธีหว่าน โดยใช้เมล็ดพันธุ์ 15 - 20 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งนิยมปลูกในฤดูแล้ง ก่อนปลูกควรคลุกเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองด้วยเชื้อไรโซเบียม (เป็นเชื้อจุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ ไปเป็นสารประกอบไนโตรเจน ซึ่งเป็นปุ๋ยแก่ต้นถั่วเหลือง) เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยลง นอกจากนี้ยังปลูกโดยโรยเป็นแถว โดยใช้เครื่องหยอด ซึ่งมีทั้งชนิดที่ใช้กับการเตรียมดิน  โดยการไถพรวนและไม่ไถพรวน ควรใช้ระยะระหว่างแถวประมาณ 30 เซนติเมตร ให้มีจำนวนต้นประมาณ 20 ตันต่อระยะแถวยาวประมาณ 1 เมตร การใช้ระยะระหว่างแถว 30 เซนติเมตร จะสัมพันธ์กับการใช้เครื่องเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองแบบวางรายอย่างมีประสิทธิภาพ

ความต้านทานโรค และ ข้อควรระวัง


ความต้านทานโรค
                               ทนทานต่อโรคราสนิมและต้านทานต่อโรคราน้ำค้างปานกลาง
ข้อควรระวัง
                     ไม่ทนน้ำขัง ในฤดูแล้งควรให้น้ำก่อนปลูก แต่ไม่ควรปล่อยให้น้ำขังในหลุมปลูก เพราะทำให้เมล็ดเน่าง่าย

ฤดูปลูกที่เหมาะสม

1. ต้นฤดูฝน    ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 

                            เกษตรกรจะเพาะปลูกถั่วเหลืองในสภาพพื้นที่ไร่ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม และจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม การปลูกถั่วเหลืองของเกษตรกรในช่วงดังกล่าวจะมีพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 29 ของพื้นที่ปลูกตลอดปี ผลผลิตคิดเป็นร้อยละ 28 ของผลผลิตทั้งปี ผลผลิตถั่วเหลืองที่ได้จากการปลูกถั่วเหลืองในช่วงต้นฤดูฝนมักมีคุณภาพต่ำ ความชื้นสูง เนื่องจากเก็บเกี่ยวในช่วงที่มีฝนตกชุก ผลผลิตส่วนใหญ่จึงเข้าสู่โรงงานสกัดน้ำมัน จังหวัดที่ปลูกถั่วเหลืองในช่วงดังกล่าว ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง เช่น สุโขทัย, ตาก, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, กำแพงเพชร, เชียงใหม่ ( แม่แตง เชียงดาว ฝาง แม่อาย  ) เป็นต้น

2. ปลายฤดูฝน  ระหว่างเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม

                             เกษตรกรจะเพาะปลูกถั่วเหลือง ในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม และจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน ซึ่งมีพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 22.5 ของพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองทั้งปี ผลผลิตคิดเป็นร้อยละ 20 ของผลผลิตทั้งปี โดยปลูกในสภาพพื้นที่ไร่ตามพืชต้นฤดูฝน เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียวผิวมัน เป็นต้น ถั่วเหลืองที่ผลิตได้ในช่วงนี้คุณภาพดีเพราะจะเก็บเกี่ยวในช่วงที่หมดฝน ผลผลิตที่ได้จะใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ของการปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้งของเกษตรกร หากปีใดผลผลิตถั่วเหลืองปลายฤดูฝนได้รับความเสียหาย เนื่องจากภัยธรรมชาติ ผลผลิตมีคุณภาพต่ำ มีผลทำให้การผลิตถั่วเหลืองฤดูแล้งของเกษตรกรมีแนวโน้มลดลง และมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เนื่องจากขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ปลูก เมล็ดพันธุ์มีราคาแพง และเกษตรกรจำเป็นต้องใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไร่ในอัตราสูง จังหวัดที่ปลูกถั่วเหลืองในช่วงดังกล่าวมาก ได้แก่ สระแก้ว, ลพบุรี, อุทัยธานี, นครสวรรค์, เชียงใหม่ ( แม่แตง เชียงดาว ฝาง แม่อาย  ) เป็นต้น

3. ฤดูแล้ง  ระหว่างเดือน เดือนธันวาคม - มกราคม
                       เกษตรกรจะเพาะปลูกถั่วเหลืองในนาหลังการเก็บเกี่ยวข้าวในเขตชลประทาน ประมาณเดือนธันวาคม - มกราคม และเก็บเกี่ยวประมาณเดือนมีนาคม - เมษายน ถั่วเหลืองที่ผลิตได้จะมีคุณภาพดีเหมาะสำหรับนำไปใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ และบริโภคในรูปของเต้าหู้ เต้าเจี้ยว ซีอิ้ว และน้ำนมถั่วเหลือง พื้นที่ปลูกถั่วเหลืองฤดูแล้งจะมีประมาณร้อยละ 48.5 ของพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองทั้งปี และมีผลผลิตประมาณร้อยละ 52 ของผลผลิตทั้งปี จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ เชียงใหม่ , กำแพงเพชร , สุโขทัย , ชัยภูมิ , พิษณุโลก , ขอนแก่น, เชียงใหม่ ( แม่แตง เชียงดาว ฝาง แม่อาย  ) เป็นต้น

ลักษณะประจำพันธุ์

ลำต้นมีลักษณะไม่ทอดยอด โคนต้นอ่อนสีเขียว ขนที่ฝักสีน้ำตาล ต้นมีการแตกกิ่งน้อย สูงประมาณ 60 เซนติเมตร ใบสีเขียวเข้ม ใบกว้างและหนา ดอกสีขาว ออกดอกเมื่ออายุประมาณ 25 วัน เก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 97 วัน ฝักเมื่อแก่จัดมีสีน้ำตาลเข้ม แตกยาก เมล็ดกลมสีเหลือง ขั้วเมล็ดมีสีน้ำตาล น้ำหนัก 100 เมล็ด 15.5 กรัม


ลักษณะเด่น ชม 60

 1. ทนทานต่อโรคราสนิม
 2. ผลผลิตสูง 246 กิโลกรัมต่อไร่
 3. ตอบสนองต่อปุ๋ยอัตราต่ำ
 4. เมล็ดมีน้ำมัน 20 เปอร์เซ็นต์ และโปรตีน 43.8 เปอร์เซ็นต์



ประวัติ ถั่วเหลือง เชียงใหม่ 60

              ถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60    เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ Williams ซึ่งมีลำต้นแข็งแรง จำนวนฝักต่อต้นมาก กับพันธุ์ สจ.4 ซึ่งเป็นพันธุ์รับรองที่ให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อโรคราสนิมที่ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ และคัดเลือกได้สายพันธุ์ 7508-50-10 หรือพันธุ์เชียงใหม่ 60 ซึ่งจากการปลูกศึกษาประเมินผลผลิต จนถึงปี 2529 ปารกฏว่าให้ผลผลิตสูงทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และทนทานต่อ  โรคราสนิม  อายุเก็บเกี่ยว 97 วัน